เราคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” ไม่ว่าจะเป็นในชีวิตจริงหรือโลกวีดีโอเกมส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมส์ประเภท Free to Play ที่มีมากมายก่ายกองในปัจจุบัน แม้เกมส์ส่วนใหญ่จะเปิดให้เล่นฟรี แต่นักพัฒนาก็จำเป็นต้องหารายได้จากเกมส์ที่ตัวเองสร้างด้วยวิธีการต่างๆ ที่เห็นได้ชัดคงเป็นการขาย Item Shop หรืออีกวิธีหนึ่งที่ใช้แรงดึงดูดใจด้วยการปล่อยตัว DEMO ออกมาให้ดาวน์โหลดไปทดลองเล่นกันฟรีๆ ตามระยะเวลาหรือเนื้อหาที่ถูกจำกัดไว้ หลังจากนั้นหากผู้เล่นสนใจก็สามารถสั่งซื้อตัวเกมส์เวอร์ชั่นเต็มได้ทันที
สำหรับเกมส์ออนไลน์ที่ใช้โมเดลธุรกิจแบบ Free to Play ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่มีชัยไปกว่าครึ่ง และในขณะเดียวกันจำเป็นต้องพึ่งปัจจัยอื่นๆ อย่างองค์ประกอบของระบบภายในเกมส์ที่ทำออกมาได้ตอบโจทย์สามารถดึงดูดใจให้ผู้เล่นยอมควักกระเป๋าจ่ายได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตามเกมส์ส่วนใหญ่ที่เปิดให้เล่นฟรีมักต้องเจอกับปัญหาที่เรียกว่า Pay to Win ยอมจ่ายเพื่อชนะ
แต่หลายๆ คนที่เล่นเกมส์ออนไลน์มานานกว่า 10 ปีคงจะคุ้นเคยกับการเติมเงินแลกค่าชั่วโมงในอดีตหรือที่เรียกกันว่า Pay to Play รูปแบบการจ่ายเงินก่อนเข้าเล่นเกมส์เป็นรายเดือนหรือรายปีในราคาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งโมเดลธุรกิจประเภทนี้มีเพียงไม่กี่เกมส์ที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน อาทิเช่น World of Warcraft และ EVE Online ในขณะเดียวกันเกมส์ส่วนใหญ่ที่เคยใช้โมเดลธุรกิจดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการเป็น Free to Play หรือปิดให้บริการด้วยปัจจัยหลายๆ ด้านทั้งการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่ยังมีนักพัฒนาเกมส์จำนวนไม่น้อยที่ยังคงให้ความสนใจกับโมเดลธุรกิจรูปแบบนี้เพราะมีข้อดีหลายอย่างทั้งไม่ทำลายสมดุลภายในเกมส์จากปัญหาร้านขาย Item Shop โดยลงทุนเพียงแค่ซื้อเวลาเล่นเกมส์เท่านั้นทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เล่น แต่ก็ยังมีผลกระทบต่อนักพัฒนาเกมส์ หากไม่มีการอัพเดทเนื้อหาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องย่อมทำให้จำนวนผู้เล่นลดลงอย่างรวดเร็ว
Buy-to-Play หรือที่นิยมเรียกกันว่า B2P เป็นรูปแบบการซื้อเกมส์ครั้งเดียวไม่ต้องจ่ายเพิ่มอีก ยกตัวอย่างเช่นเกมส์ Guild Wars 2, The Secret World และ The Elder Scrolls Online แต่ราคาเริ่มต้นในการซื้อเกมส์ครั้งแรกค่อนข้างสูงและผู้ซื้อจะสามารถเข้าถึงเนื้อหาภายในเกมส์ได้ทั้งหมด จากเดิมที่โมเดลธุรกิจในรูปแบบนี้จะไม่มีระบบร้าน Item Shop หรือสมาชิก VIP แบบรายเดือน แต่ในระยะหลังมานี้นักพัฒนาเกมส์เริ่มนำระบบดังกล่าวเข้ามาใช้ร่วมกันจึงมีส่วนผสมของโมเดลการให้บริการระหว่าง Pay to Play กับ Free to Play สร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ นอกจากนี้ยังมีบริการ DLC เนื้อหาเสริมที่สามารถสั่งซื้อได้เมื่อมีการอัพเดทใหม่ทุกครั้ง ซึ่งเมื่อนำเอาโมเดลธุรกิจแบบต่างๆ มาใช้ร่วมกันย่อมเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย
แต่ถ้ามองในมุมนักเล่นเกมส์ออนไลน์อย่างเราไม่ว่าผู้พัฒนาหรือผู้ให้บริการจะใช้โมเดลธุรกิจในรูปแบบใด ผู้เล่นย่อมเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้เหมาะสมกับกำลังทรัพย์ของตัวเอง อย่างน้อยการเล่นเกมส์เป้าหมายไม่ใช่เพื่อความสนุกเสมอไป บางคนหรืออาจจะต้องบอกว่าคนส่วนใหญ่เล่นเกมส์เพื่อเอาชนะหรือ Play for Win ถึงแม้ต้องควักกระเป๋าจ่ายมากเพียงใดก็ไม่สำคัญ หากมันสามารถนำมาซึ่งชัยชนะที่ยิ่งใหญ่
หากถามว่าโมเดลธุรกิจแบบใดเหมาะสมที่สุดที่เหล่านักพัฒนาควรนำมาใช้กับเกมส์ของตัวเอง คงตอบไม่ได้เพราะมันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ซึ่งในยุคสมัยนี้โมเดลธุรกิจที่ได้รับความนิยมเป็นอันแรกคงหนีไม่พ้นการให้บริการแบบ Free to Play ที่ผู้เล่นสามารถเข้าถึงเนื้อหาภายในเกมส์ได้ง่ายและรวดเร็ว แต่จะมาพร้อมกับข้อเสียที่ว่า Pay to Win ในขณะที่ตัวเลือกถัดไปทั้ง Pay to Play และ Buy to Play อาจต้องใช้เวลาสักระยะในการโปรโมทหรือนำเสนอระบบภายในเกมส์ที่มีความโดดเด่นและแปลกใหม่ซึ่งหากมีความน่าสนใจจะเป็นเรื่องง่ายที่ผู้เล่นยอมควักกระเป๋าจ่ายซื้อเกมส์แบบไม่ลังเล